Hot Topic!
ข้อมูลดิจิตอล ช่วยลดทุจริตจัดซื้อจัดจ้างได้
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 26,2017
- - สำนักข่าว แนวหน้า ฉบับวันที่ 26/07/60 - -
รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค และดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
เมื่อวันเสาร์ที่ 22 ก.ค. ผมได้รับเชิญจากสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) ให้ไปร่วมประชุมทางไกลข้ามประเทศผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์กับตัวแทนจาก 4 ประเทศ ที่มีความก้าวหน้าทางไอที ได้แก่ ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น และไทย จุดประสงค์ ของการประชุมครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ประเทศต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูลของรัฐในรูปแบบของดิจิตอล หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า โอเพ่นดาต้า (Open data) ว่า ได้ใช้ประโยชน์ในเรื่องอะไรบ้าง
ตัวอย่างแรกจากไต้หวัน ประเทศเจ้าภาพในครั้งนี้ เขาใช้ประโยชน์ของโอเพ่นดาต้า ในการติดตามดูแลเรื่องความ ปลอดภัยของอาหาร (Food Safety)ส่วนประเทศเกาหลี เขานำไปใช้ติดตามดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ด้อยโอกาสเพื่อลดช่องว่างทางสังคม (Narrowing The Social and Economic gap) และประเทศญี่ปุ่นนำเสนอเรื่องการนำโอเพ่นดาต้า ด้วยชุดข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะอากาศและอุณหภูมิที่เผยแพร่ต่อสาธารณะตลอด 24 ชั่วโมง มาศึกษาประกอบกับชุดข้อมูลเรื่องปริมาณสินค้าที่ขายได้ในช่วงอุณหภูมิต่างๆ มาวิเคราะห์การจับจ่ายใช้สอยของคนญี่ปุ่น ผลปรากฏว่าคนญี่ปุ่นจะออกมาซื้อขายสินค้ามากขึ้นอย่างเห็นชัดเมื่ออุณหภูมิอากาศอบอุ่นดี ที่อุณหภูมิเกิน 20 องศาเซลเซียสขึ้นไป
สำหรับประเทศไทยนั้น EGA เลือกนำเสนอเรื่องของการนำโอเพ่นดาต้าไปใช้เพื่อสร้างรัฐบาลที่มีความโปร่งใส (Government Transparency) โดยมีผมมาพูดในนามประธานคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต(คตช.) และมีคุณธนะโชค รุ่งธิปานนท์ ผู้ดูแลระบบจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement: e-GP) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มาร่วมบรรยายด้วย
ผมเริ่มด้วยการเล่าวิวัฒนาการการสร้างความโปร่งใสในภาครัฐของไทย ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน บัญญัติคำว่า "โปร่งใส" ขึ้นมาใช้เป็นนโยบายในการทำงานของรัฐบาล ตามมาด้วยการตราพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐตามกฎหมายในสมัยก่อน หมายความว่าให้ทุกหน่วยงาน ของรัฐต้องจัดให้มีศูนย์ข้อมูลข่าวสารไว้บริการผู้สนใจค้นหาข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงาน นั้น และถ้าต้องการเอาข้อมูลนั้นออกไปศึกษาต่อ ก็สามารถร้องขอให้หน่วยงานนั้นๆถ่ายสำเนาเอาออกไปได้ด้วย
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการปฏิบัติมีความยากลำบากและเสียเวลามากกว่าประชาชนจะได้ข้อมูลใดๆออกไป เคยมีกรณี ที่อดีตบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์มติชน คือ คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวอิศราได้ยื่นจดหมายไปขอข้อมูลจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับ สนามบินหนองงูเห่า (ชื่อในขณะนั้น ก่อนจะได้พระราชทานชื่อว่า สนามบินสุวรรณภูมิ) รอมาเป็นอาทิตย์ก็ไม่ได้คำตอบ จนถึงกับต้องประกาศว่าจะฟ้องศาล เพื่อขอข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนดสิทธิไว้ จึงได้เอกสารข้อมูลมาในที่สุด แต่ปรากฏว่าได้เอกสารถ่ายสำเนามาเป็นแบบหน้าเว้นหน้า เป็นที่ฮือฮากันมากในวงการนักข่าว
นี่แสดงให้เห็นว่าระบบบริการเปิดเผยข้อมูลของรัฐในสมัยก่อนมีความยุ่งยากขนาดไหน มากไปกว่านั้น การที่ข้อมูลทั้งหมดอยู่ในกระดาษ สร้างความยากเย็น ในการค้นหาคำสำคัญ (Key Word) อย่างมาก ไม่เหมือนข้อมูลในระบบดิจิตอล ที่แม้จะต้องค้นจากเป็นเอกสารเป็นพันๆหน้า ก็จะสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว
ต่อมาในยุคดิจิตอลช่วงต้นๆ ผมได้รับข้อมูลชุดหนึ่งมาจากกรมบัญชีกลาง ใส่มาให้ในแผ่นซีดีรอม เป็นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการของรัฐที่มีงบประมาณเกิน 2 ล้านบาท ในรอบ 7 ปีแรก ของการใช้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบอีอ๊อคชั่น (e-Auction) รวบรวมรายชื่อโครงการของหน่วยงานรัฐต่างๆทั่วประเทศว่า มีผู้รับเหมาหรือผู้ขายสินค้ามาเสนอราคากันกี่ราย และแต่ละรายเสนอราคาเท่าใด มีรายชื่อผู้เสนอทุกบริษัท และมีราคากลางด้วย ข้อมูล เหล่านี้มีปริมาณถึง 70,000 กว่าโครงการ มีมูลค่ารวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท รวมอยู่ในแผ่น CD แผ่นเดียว
ข้อมูลมหาศาลแบบนี้ผมต้องใช้นักศึกษาระดับปริญญาโทมาช่วยขุดค้น เพื่อหาคำตอบว่าระบบจัดซื้อจัดจ้างแบบอีอ๊อคชั่น (e-Auction) นั้นมีประสิทธิภาพเพียงใด หลังจากเวลาหลายเดือน ด้วยการใช้โปรแกรมที่ธรรมดาที่สุด คือ ไมโครซอฟท์ เอ็กซ์เซล (MS Excel ) ที่มีข้อจำกัดในการจัดการข้อมูลค่อนข้างมาก สมัยนั้นเราใช้เพียงการค้นหา การจัดเรียง และการนำผลมาเปรียบเทียบเป็นกราฟเท่านั้น ก็ได้ผลออกมา ตื่นเต้นน่าสนใจมากว่า โครงการก่อสร้างภาครัฐส่วนใหญ่มีราคาชนะการประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงไม่ถึง 1% นับว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับในสมัยที่มีการประมูลงานก่อสร้างโดยการใส่ตัวเลขในซองปิดผนึกแล้วยื่นต่อคณะกรรมการเปิดซองเปิดดูกันต่อหน้าทุกราย ซึ่งจะมีการต่อสู้ราคากันต่ำกว่าราคากลางตั้งแต่ 5% ขึ้นไปเป็นอย่างน้อย ซึ่งหมายความว่าระบบอีอ๊อคชั่นทำให้รัฐบาล ต้องสูญเสียโอกาสที่จะประหยัดงบประมาณของชาติไปไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท
ผลการศึกษาในเรื่องนี้ได้กลายมาเป็น วิทยานิพนธ์ของ นายวันชัย สรรพสุปัญญาเมื่อปีพ.ศ.2544 และได้รับการอ้างอิงโดย ป.ป.ช. ประกอบข้อเสนอต่อรัฐบาลในยุคนั้นให้มีการปรับเปลี่ยนระบบอีอ๊อคชั่นเสียใหม่
ปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้ปรับเปลี่ยนระบบใหม่เป็นระบบอีบิดดิ้ง ซึ่ง คุณธนะโชค รุ่งธิปานนท์ ได้ให้ข้อมูลในการประชุมครั้งนี้ว่า ปัจจุบันการประมูลงานก่อสร้างในระบบอีบิดดิ้ง มีผลการประหยัดได้จากได้ถึง 5-10% แล้ว และยังมีการเผยแพร่ข้อมูลการประมูลเป็นแบบโอเพ่นดาต้า ออกสู่สาธารณะทางสื่ออินเตอร์เนตต่างๆ โดยผู้สนใจสามารถติดตามดูข้อมูลการทำงานของภาครัฐได้ตลอดเวลาและง่ายดายกว่าเดิมมาก
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังร่วมมือกับ EGA เผยแพร่ชุดข้อมูล (Data Set) ให้กลุ่มนักขุดค้นข้อมูล หรือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)ของไทยมาช่วยกันค้นหาความสัมพันธ์และรูปแบบของข้อมูลเพื่อการพัฒนาระบบการทำงานของรัฐต่อไปด้วย นับเป็นแนวทางที่มีประโยชน์มหาศาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Driven Business)
สุดท้ายการบรรยายผมจบลงด้วยว่า ประเทศไทยในปัจจุบันมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในระบบที่ทันสมัยที่เรียกว่า โอเพ่นดาต้าออกมามากมาย เป็นสิบๆเท่าของข้อมูลที่เคยเปิดเผยออกมาในอดีต แต่ ก็ไม่ได้หมายความว่าความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นนี้จะนำไปสู่การลดการทุจริตคอร์รัปชันได้โดยอัตโนมัติ สิ่งที่เราต้องการควบคู่ไปกับการที่มีข้อมูลสาธารณะออกมามากๆก็คือ จะต้องมีวิทยาการที่สามารถนำข้อมูลมหาศาลเหล่านี้มาแยกแยะ วิเคราะห์ และสรุปออกมาเป็นผลที่เราสามารถนำไปใช้ได้เป็นประโยชน์ได้สะดวกและรวดเร็ว ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องการนักวิชาการ สาขาใหม่ที่เรียกว่านักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) เป็นจำนวนมากด้วย
เป็นที่น่ายินดีว่าเรามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมที่จะมาช่วยประเทศชาติอยู่พอสมควร โดยในวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2560 จะมีการจัดเสวนาในหัวข้อ โอเพ่นดาต้าสำหรับความโปร่งใสของรัฐบาล (Open Data for Government Transparency) จัดที่สำนักงาน EGA หากใครมีข้อมูลอะไรจะให้นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเหล่านี้ช่วยขุดค้นและวิเคราะห์ ก็ลงทะเบียนไปร่วมกันได้นะครับ